วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ประวัติความเป็นมา วันปีใหม่

ความหมายของ วันขึ้นปีใหม่

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ 


ประวัติความเป็นมา 

วันปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน

เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

และในวันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกเป๋ง วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมง เท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่ไทย 
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน 
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ 
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ 
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา 
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก 
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย 

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่ 
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ 
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร 
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ 
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น

กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่ 
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย 

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง) 

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ


สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ 



เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่ 
เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495


UploadImage

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่างๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุกๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับ ฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของ กษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุกๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทินเมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March) 

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดัง นั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่ เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนาที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็น การเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"


                                

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามโดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ
           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่
          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า


          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ

ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่          การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่างๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่างๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"


                      ส.ค.ส
          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"
          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่างๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
            
ส.ค.ส พระราชทาน          ทุกๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดย ปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

                                      ส.ค.ส พระราชทาน
                                                   ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนักเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจาก เหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียง ถ้อยคำสั้นๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน 
                                  ส.ค.ส พระราชทาน
                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547

          สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส.ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้นๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส.มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี

                        ส.ค.ส พระราชทาน

                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2551


กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ

           เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
           ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว
           ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
           ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

           ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี
           จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่างๆ
           จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่
           จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่างๆ

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


  



     
ตำนานวันคริสต์มาส

          คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า "บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า" ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas


          เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร


           ด้านนักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นที่ต่างออกไปโดยได้วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ.274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย


          เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเป็นการฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก โดยส่งบุตรชาย คือ "พระเยซู" ลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาป และช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการทำชั่วนั่นเอง ดังนั้นในวันนี้ถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญชาวคริสต์ทั่วโลก และมีการส่งบัตรอวยพร ให้ของขวัญ แก่กันและกัน รวมทั้งประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ และต้นคริสต์มาสอย่างสวยงาม


องค์ประกอบในงานคริสต์มาส

 ซานตาครอส
เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึงในฐานะสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ซึ่งว่ากันว่าซานตาคลอสคนแรก คือ นักบุญ (เซนต์) นิโคลัส ผู้เป็นสังฆราชแห่งเมืองไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 และเหตุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซานตาครอสคนแรก มาจากวันหนึ่งที่ท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่ง แล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี

          นักบุญนิโคลัส นั้นเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือว่าเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของเด็กๆ เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีการฉลองนักบุญ นิโคลาส ในวันที่ 5 ธันวาคม เอาไว้ ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลัสก็เปลี่ยนเป็น ซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วนและใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นยานพาหนะที่มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้านเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติของเขา

          ถึงแม้ซานตาคลอสจะเป็นเพียงตำนานที่เกิดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสก็ตาม แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่รวมเอาวิญญาณและความหมายของคริสต์มาสไว้อย่างมากมาย อาทิ ความปิติยินดีชื่นชม ความโอบอ้อมอารี ความรัก และความเป็นกันเอง


 ถุงเท้า           จากที่นักบุญนิโคลัสได้ปีนขึ้นไปบนปล่องไฟของบ้านเด็กหญิงยากจน เพื่อที่จะมอบเหรียญเงินให้เป็นของขวัญ แต่เหรียญนั้นกลับตกไปอยู่ในถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้หน้าเตาผิง พอรุ่งเช้าเด็กหญิงตื่นมาเจอเหรียญเงินในถุงเท้าจึงดีใจมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผู้คนมากมายต่างพากันแขวนถุงเท้าคริสต์มาสไว้ เพื่อหวังจะได้รับของขวัญเช่นเดียวกันบ้าง


 ต้นคริสต์มาส
          นอกจากนี้อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้นคริสต์มาส ซึ่งต้นคริสต์มาสก็คือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยลูกแอปเปิ้ลและขนมปังเพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท และก็ได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนมาถึงการประดับด้วยดวงไฟหลากสีสัน ขนม และของขวัญ อย่างในทุกวันนี้ การตกแต่งแบบนี้ต้องย้อนไปในศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก
          โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก และอีกเหตุผลที่ใช้ต้นสนก็เพราะว่ามันหาง่าย

          ในสมัยโบราณนั้นต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า โดยตามพระคัมภีร์นั้นได้เปรียบพระเยซูเจ้าเสมือนเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เขียวเสมอในทุกฤดูกาล สื่อถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า อีกทั้งความสว่างของพระองค์ยังเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างในความมืด และรวมถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัวในเทศกาลคริสต์มาส


 ต้นฮอลลี่


          ต้นฮอลลี่ เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ย และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส เชื่อกันว่า สีเขียวของต้นฮอลลี่มีความหมายถึง การมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และมีความสัมพันธ์กับพระเยซู โดยผลสีแดงของต้นฮอลลี่นั้นหมายถึงหยดเลือดของพระเยซูที่ไหลลงบนไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่อพระเจ้า ใบไม้ที่มีหนามของต้นฮอลลี่เป็นสิ่งที่เตือนพวกเราถึงมงกุฏหนามที่พวกชาวทหารโรมันได้นำมาวางไว้บนศีรษะของพระเยซูคริสต์


 ดอกไม้คริสต์มาส หรือ Poinsettia

          ตำนานของดอก Poinsettia ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวันคริสต์มาส มาจากเรื่องราวของเด็กหญิงจนๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการหาของขวัญไปมอบให้พระแม่มารีในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เนื่องจากเธอไม่มีสิ่งของใดๆ ติดตัว จึงเดินทางไปตัวเปล่า และระหว่างทางเธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกให้เธอเก็บเมล็ดพืชไว้ ต่อมาเมล็ดพืชนั้นกลับเจริญเติบโตเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีเลือดหมูสดใส ซึ่งก็คือดอก Poinsettia ตั้งแต่นั้นดอก Poinsettia ก็ได้รับความนิยมใช้ประดับประดาบ้านในงานคริสต์มาส
 ดอกคริสต์มาส Christmas Rose          มีต้นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ลักษณะเป็นดอกสีขาว และมักออกดอกในช่วงฤดูหนาว ตำนานของดอกคริสต์มาสนี้มีอยู่ว่า ในช่วงที่พระเยซูประสูติ มีผู้รอบรู้ 3 คน กับคนเลี้ยงแกะเดินทางมาพบพระเยซู ระหว่างทางพวกเขาพบกับ มาเดลอน เด็กหญิงที่เลี้ยงแกะคนหนึ่ง เมื่อเธอทราบว่าทั้งหมดเดินทางมาเพื่อมอบของขวัญให้พระเยซู มาเดลอนก็เสียใจที่ไม่มีของขวัญใดไปมอบให้พระเยซูบ้าง ก่อนที่นางฟ้าที่เฝ้ามองเธออยู่จะเกิดความเห็นใจจึงร่ายมนตร์เสกดอกไม้สีขาวน่ารักและมีสีชมพูอยู่ตรงปลายกลีบให้เธอ และดอกไม้นั้นคือ ดอกคริสต์มาสนั่นเอง

 เพลงวันคริสต์มาส          เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 แต่งโดยพระสงฆ์และฆราวาส มีเนื้อร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีการแต่งในท่วงทำนองที่ร่าเริงสนุกสนานมากขึ้น เริ่มจากประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้สนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่

          เพลงคริสตมาสแบบใหม่นี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เพราะมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาส เพลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ.1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาสที่นิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night

          ความเป็นมาของเพลงนี้มาจากวันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ (Joseph Mohr) เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ (Oberndorf) ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้องไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ จึงมีการแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ นำไปให้เพื่อนชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ (Franz Gruber) ใส่ทำนองในคืนวันที่ 24 นั่นเอง และเล่นเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยมีการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก คำอวยพรวันคริสต์มาส          ในวันคริสต์มาสเรามักจะใช้คำอวยพรให้แก่กันและกันว่า Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า "สันติสุขและความสงบทางใจ" คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรขอให้เขาได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ และได้จัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป




  



          วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี

 ความหมายของรัฐธรรมนูญ

          รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองประเทศ

          วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

 ประวัติความเป็นมา

          การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

 สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย  

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วย พระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ  

            อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน  

            รัฐบาลได้ออกกฏหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร 

           จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร ซึ่งประกอบด้วยพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเด และพันเอกพระฤทธิอาคเนย์ เป็นผู้บริหารประเทศ

          วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว" สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย การใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ 

            พระมหากษัตริย์ 
           
            สภาผู้แทนราษฎร 
           
            คณะกรรมการราษฎร 
           
            ศาล

          ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์ การปฏิบัติราชการต่างๆ จะต้องมีกรรมการราษฎรผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้

วันพ่อแห่งชาติ 2555
วันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ 2555

วันพ่อแห่งชาติ 

    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 587) พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า “พ่อ” ไว้ดังนี้
     พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน
     ในทางพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า “พ่อ” หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูกมีใช้หลายคำ เช่น
         
     - บิดา (พ่อ)
     - ชนก (ผู้ให้กำเนิด)
     - สามี (ผัวของแม่) เป็นต้น
     วันพ่อแห่งชาติ  5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย
      วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือวันพ่อแห่งชาติ มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์เป็นผู้ถวายการประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการจำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่ พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันคำว่าโดย “ธรรม” นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ราชธรรม 10 ประการ”
วันพ่อแห่งชาติ 2554 
พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง 
     ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ ห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
     “...บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นร่มเย็นปกติสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติและต่างร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่โดยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด ท่านทั้งหลายในสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่า จึงควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่างและนำไปปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความมีสติ…”
      (พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง)  

กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาตินี้

      1. ในวันพ่อแห่งชาติเราควรประดับธงชาติไทยที่อาคารบ้านเรือน

      2. จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

     3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ  

      วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และให้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ

ทุกบุปผา มาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทองค์บพิตรเป็นนิจสิน
พระ คือ บิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช “วันพ่อแห่งชาติ” คือองค์อดิศร
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน 


    
ด้วยพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณ มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพ เทิดทูน และตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อนี่เป็นที่มาของการจัดให้มี วันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติตรงกับวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
วันพ่อแห่งชาติหรือวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

5 ธันวาวันพ่อแห่งชาติ  

      5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและยังเป็นวันพ่อแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพ่อแห่งชาติ อีกทั้งทรงเป็นพ่อตัวอย่างของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงขจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น พ่อแห่งชาติที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของวันพ่อแห่งชาติ 4 ประการ คือ
1.       เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2.       เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3.       เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
4.       เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน  
วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ
     วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติ กำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี 2523 และ กำหนดให้ ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ
วันพ่อแห่งชาติมีดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ประจำ
ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ
     “พุทธรักษา” ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครอง ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวัน พระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ จึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว
     คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555



ประวัติวันลอยกระทง
              เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทยส่วนใหญ่ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือเดือนยี่(เดือนที่ 2) ตามปฏิทินจันทรคติล้านนา"มักจะ" ตกอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสุริยคติประเพณีนี้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทงได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
ในวันลอยกระทง

              ผู้คนจะพากันทำ "กระทง" จากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตบแต่งเป็นรูปคล้ายดอกบัวบาน ปักธูปเทียน และนิยมตัดเล็บ เส้นผม หรือใส่เหรียญกษาปณ์ลงไปในกระทง แล้วนำไปลอยในสายน้ำ (ในพื้นที่ติดทะเล ก็นิยมลอยกระทงริมฝั่งทะเล) เชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการลอยกระทง เป็นการบูชาพระแม่คงคาด้วย


ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

              ภาคเหนือตอนบน นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า "ยี่เป็ง" หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย)


จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"


จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง


ภาคอีสานจะตบแต่งเรือแล้วประดับไฟ เป็นรูปต่างๆ เรียกว่า "ไหลเรือไฟ"


กรุงเทพฯ จะมี งานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว7-10วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง


ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา



ประวัติ
              เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยมีนางนพมาศ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3


ปัจจุบันวันลอยกระทงเป็นเทศกาลที่สำคัญของไทย
              ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเที่ยวปีละมากๆ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะเป็นช่วงต้นฤดูหนาว และมีอากาศดี ในวันลอยกระทง ยังนิยมจัดประกวดนางงาม เรียกว่า "นางนพมาศ"

ความเชื่อเกื่ยวกับวันลอยกระทง
# เป็นการขอขมาพระแม่คงคา ที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ ได้ดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ
# เป็นการสักการะรอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ประทับรอยพระบาทไว้หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย
# เป็นการลอยความทุกข์ ความโศกรวมถึงโรคภัยต่างๆ ให้ลอยไปกับแม่น้ำ
# ชาวไทยในภาคเหนือมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการบูชาพระอุปคุต ตามตำนานเล่าว่า พระอุปคุตทรงสามารถปราบพญามารได้ 

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ออกพรรษา


วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์           วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

     วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน


วันออกพรรษา


ความสำคัญของวันออกพรรษา
 
วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้
 
      1. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
 
      2. เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน
 
      3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน
 
      4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป
 
ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา

     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า
 
     “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี” การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย
    
     วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ
 
     นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”



ปิยะมหาราช




ปิยะมหาราช

มื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราชหรือพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคมส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง ๔๐ ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น
          ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๒๓ ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร ๕ ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์  


พระราชประวัติ

สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์
          พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๙๖
          ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
          นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช ๒๔๑๖ ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
          ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา
          หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๑ เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
 

 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๑
          พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๑ ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒
          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๑๖ และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้